Homeสามก๊กหนังสือสามก๊กสามก๊กฉบับคนขายชาติ

สามก๊กฉบับคนขายชาติ

สามก๊กฉบับคนขายชาติ

สามก๊กฉบับคนขายชาติ 8 เล่ม
ผู้แต่ง – เรืองวิทยาคม (ไพศาล พืชมงคล)

สามก๊กฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองไทยเมื่อปีพ.ศ.2540 ที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ฟองสบู่” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประเทศไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และต้องถูกกำหนดให้กระทำการหลายอย่างซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อประเทศไทย รัฐบาลไทยในช่วงนี้ต้องกระทำการหลายอย่างที่เอื้อต่อประโยชน์ของทุนต่างชาติและทำให้คนไทยเข้าใจว่าเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ายึดครองประเทศไทย จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการขายชาติ

ไพศาล พืชมงคล ผู้ใช้นามปากกา เรืองวิทยาคม ได้ปรึกษากับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเริ่มเขียนหนังสือสามก๊กขึ้นในช่วงนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ต้องการพูดถึงเรื่องของวีรชน ทรชน ผู้กู้ชาติและขายชาติ ซึ่งปรากฏอยู่มากมายในเรื่องสามก๊ก จึงกลายเป็นที่มาของสามก๊กฉบับคนขายชาติ เริ่มแรกผู้เขียนใช้วิธีการเขียนพิมพ์เป็นตอนๆลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ลงตอนแรกและตีพิมพ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และเสร็จสิ้นตอนที่ 655 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 รวมระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหลังจากได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันได้ราว 50 ตอน ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น สำนักพิมพ์จึงขยายขอบเขตการเผยแพร่โดยนำไปทำเป็นเสียง ออกรายการทางสถานีวิทยุคลื่น FM 99.5 MHZ ในรายการคารวะแผ่นดิน ระหว่างเวลา 19.30-22.00 น. ทุกวันอีกทางหนึ่ง เมื่อได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอีกก็นำลงเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของสำนักพิมพ์ ชื่อ www.manager.co.th เพิ่มเติมขึ้น จากนั้นจึงจัดทำเพื่อตีพิมพ์ทั้งชุด 8 เล่มในปีพ.ศ.2543

ผู้เขียนได้ชี้แจงว่าสามก๊กฉบับนี้ไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบหรือเสียดสีบุคคลใดในแวดวงการเมืองไทยอย่างชัดเจน แต่จะมุ่งเน้นไปที่การเล่าพฤติกรรมของตัวละครในสามก๊กซึ่งมีทั้ง วีรชน ทรชน ผู้กู้ชาติ ผู้ขายชาติ และผู้ประพฤติตนเป็นข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนรุ่นหลังและสะท้อนสัจธรรมของชีวิต เพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของผู้คน และเปรียบเปรยต่อสถานการณ์ทางเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2540

การดำเนินเรื่องในสามก๊กฉบับคนขายชาติ จะยึดถือเอาสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนเป็นหลัก และหากมีส่วนใดขาดอยู่ ก็จะมีการนำเอาฉบับแปลอื่นๆมาประกอบเพื่อให้ครบถ้วน ประกอบกับต้นฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาอังกฤษ และแทรกความคิดเห็นพร้อมเปรียบเทียบการเมืองไทยยุคฟองสบู่แตกไปด้วย เป็นการเขียนเพื่อให้ได้ในแง่มุมที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะ

สามก๊กฉบับคนขายชาติ ถูกตีพิมพ์ทั้งชุดครั้งแรก ในปีพ.ศ.2546 ทั้งชุด 8 เล่ม โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง โดยการพิมพ์ซ้ำครั้งล่าสุดจัดทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 72 ปี ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ข้อเด่นของสามก๊กฉบับคนขายชาติคือการนำเรื่องราวในสามก๊กตั้งแต่ต้นจนจบมาผูกโยงและอธิบายเชิงการเมืองตลอดทั้งเรื่อง ด้วยภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ต้องการอ่านสามก๊กในเชิงเปรียบเทียบซึ่งจะทำให้เห็นภาพค่อนข้างชัด ข้อด้อยคือเป็นการเขียนในเชิงเปรียบเทียบการเมืองมาก และยังมีอคติของผู้เขียนแทรกลงไปด้วย ดังนั้นการอ่านจึงควรพิจารณาด้วยเช่นกัน และเพราะการที่ใส่แนวคิดเชิงเปรียบเทียบลงไป จึงทำให้สามก๊กฉบับนี้มีจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นถึง 8 เล่ม สำหรับผู้สนใจที่เพิ่งเริ่มอ่านสามก๊ก อาจจะรู้สึกว่าหนักหน่วงเกินไป และอาจจะถูกชักนำด้วยแนวคิดการเปรียบเทียบเชิงการเมืองที่อยู่ในเล่มไปได้ จนอาจจะไม่เกิดความคิดเป็นของตนเอง

สรุปแล้ว สามก๊กฉบับคนขายชาติ เป็นหนังสือเล่าเรื่องสามก๊กที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยแฝงนัยยะทางการเมืองอย่างเข้มข้น แม้ผู้เขียนจะเขียนไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องการเสียดสีใครอย่างเด่นชัด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงจุดประสงค์ในการเปรียบเทียบเชิงการเมืองที่ต้องการสื่อถึงตัวละครหรือเหตุการณ์ทางการเมืองไทยในเวลานั้นได้

ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com

ขอบคุณรูปจาก อุ่ยคงคง แห่ง pantip.com

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
สามก๊กฉบับบริหาร
Next post
สามก๊กฉบับนายทุน

No Comment

Leave a reply