โงลังกั๋ง สถานที่ขงเบ้งซ่อนกาย มังกรซ่อนเล็บจริงหรือไม่?
โงลังกั๋ง หรือ ว่อหลงกั่ง 卧龙岗 หรือ เนินเขามังกรซ่อนกาย เมืองหนานหยาง 南阳 หรือลำหยง ในสามก๊ก ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเหอหนาน ติดต่อกับเมืองเซียงหยาง มณฑลหูเป่ยทางตอนใต้ ในอดีตทั้งสองเมืองต่างล้วนอยู่ในดินแดนของแคว้นเกงจิ๋ว ที่ทั้งสามก๊กต่างหมายปองช่วงชิง
(๑.)
บนเนินเขาโงลังกั๋ง ห่างจากใจกลางตัวเมืองหนานหยาง มาทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณเพียง ๗ กม. มีศาลเจ้ายอดนักรบขงเบ้ง-หวู่โหวฉือ 武侯祠 สร้างขึ้นตั้งแต่ในระหว่างปีค.ศ.๓๐๔-๓๐๖ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก เพื่อบูชาท่านจูกัดเหลียงขงเบ้งในสถานที่ชาวเมืองหนานหยางเชื่อกันว่าคือบ้านของท่าน เพราะใน ฎีกาออกศึก-เฉียนชูซือเปี่ยว 前出师表 ฉบับแรกที่ขงเบ้งเขียนขึ้นถวายพระเจ้าเล่าเสี้ยนก่อนออกศึกกิสานครั้งที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า…
“…เดิมกระหม่อมเป็นสามัญชน ทำไร่ไถนาที่เมืองลำหยง (หนานหยาง) เพื่อขอรักษาชีวิตในกลียุค ไม่คิดถามหายศศักดิ์…”
และประกอบกับในตัวเมืองหนานหยางมีเนินเขาลูกหนึ่งชื่อ “ว่อหลงกั่ง หรือโงลังกั๋ง” ชาวเมืองหนานหยางจึงถือว่าเป็นสถานที่ขงเบ้งทำไร่ไถนาตามถ้อยคำในฎีกาออกศึก และเป็นสถานที่เกิดการเยือนกระท่อมหญ้าสามครั้งของเล่าปี่
ชาวเมืองหนานหยางยังให้เหตุผลว่า แม่ทัพงักฮุย (เยวี่ยเฟย) สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้มาสักการะยอดนักรบขงเบ้งที่หนานหยาง และหวู่โหวฉือ หรือ ศาลเจ้านักรบท่านขงเบ้งที่นี่ ก็มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ (ทั้งประเทศจีนมีศาลเจ้ายอดนักรบท่านขงเบ้งรวม ๘ แห่ง)
(๒.)
เขาโงลังกั๋ง และศาลเจ้ายอดนักรบท่านขงเบ้งแห่งนี้ มีขนาดพื้นที่กว้างขวางถึง ๑๖๐,๐๐๐ ตร.ม. ประกอบด้วย ซุ้มประตูศิลาเล่าปี่เยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง, กระท่อมหญ้าขงเบ้ง, ตำหนักสักการะ, ศาลาสนโบราณ, แปลงไร่นาของขงเบ้ง, สระมังกรซ่อนกาย, ลานครึ่งจันทร์, สะพานสายรุ้ง, บ่อน้ำขงเบ้ง, ลานขงเบ้งอ่านตำรา, ตำหนักกวนอูเตียวหุย, ศาลาเฉ่าหลูตุ้ย (ชาวหนานหยางเรียกแผนยุทธศาสตร์บันไดสามขั้นยึดครองแผ่นดินจีน ที่ท่านขงเบ้งเสนอต่อท่านเล่าปี่ว่า เฉ่าหลูตุ้ย ส่วนที่กู่หลงกง เรียกว่า หลงจงตุ้ย) ฯลฯ
โดยเฉพาะระเบียงศิลาจารึกลายลิปิศิลป์ของแม่ทัพงักฮุย ที่คัดลอกฎีกาออกศึกของขงเบ้งที่ศาลเจ้าแห่งนี้เมื่อเกือบหนึ่งพันปีก่อน เป็นมรดกอันล้ำค่าอันเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวหนานหยาง และต่อมาได้ถูกนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศ และติดประดับอยู่ในทุกศาลเจ้านักรบของขงเบ้ง
(๓.)
สำหรับข้อถกเถียงประวัติศาสตร์ว่ากระท่อมหญ้าของท่านขงเบ้งอยู่ที่กู่หลงจงหรือโงลังกั๋งที่หนานหยางนั้น
อดีตเจ้าเมืองเซียงหยางในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง นามกู้เจียเหิง 顾嘉蘅 ได้เขียนคำกลอนคู่ (ตุ้ยเหลียน) คลาสสิกบทหนึ่ง ในปีค.ศ.๑๘๔๖ ปัจจุบันประดับอยู่หน้าศาลสักการะท่านขงเบ้งที่เขาโงลังกั๋งว่า
“ด้วยใจจงรักภักดีต่อสถาบันมิเปลี่ยนแปรทั้งเซียนจู่และโฮ่วจู่ (พระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าเล่าเสี้ยน)
ชื่อเสียงเกริกเกรียงไกร ใยต้องสนใจเซียงหยางหนานหยาง”
ในเดือนกันยายน ปีค.ศ.๑๙๕๘ ท่านหูเหยาปัง 胡耀邦 อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มาเยือนเขาโงลังกั๋ง เมื่อเห็นคำกลอนคู่ของท่านกู้เจียเหิง จึงได้เขียนคำกลอนคู่ขึ้นประชันอีกบทหนึ่ง ประดับอยู่เคียงข้างกับคำกลอนคู่ของท่านกู้เจียเหิงว่า
“มิพักเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ จิตใจขออยู่เคียงข้างปวงประชา
ผลประโยชน์ของไพร่ฟ้า ขออย่าแย้งว่าได้มากหรือได้น้อย”
(๔.)
นับเป็นยอดตุ้ยเหลียนสองบท ที่สะท้อนชีวิตและผลงานของท่านมหาอุปราช และเป็นบทสรุปให้กับชาวเมืองเซียงหยางหนานหยาง และผู้รักในสามก๊กทุกคนโดยแท้จริง!
ข้าน้อย…ขอคารวะ…
แผนยุทธศาสตร์บันไดสามขั้นท
กระท่อมหญ้าขงเบ้ง สถานที่เล่าปี่เยือนกระท่อม
ซุ้มประตูทางขึ้นเขาโงลังกั๋ง ใจกลางเมืองหนานหยาง (ลำหยง) มณฑลเหอหนาน
สระมังกรซ่อนกาย-ว่อหลงทาน บนเนินเขาโงลังกั๋ง
credit รูปและบทความของคุณพี่ Pariwat Chanthorn