สามก๊กฉบับแปลใหม่
สามก๊กฉบับแปลใหม่ (วรรณไว พัธโนทัย)
ตีพิมพ์ครั้งแรก – พ.ศ.2521 (ไม่ทราบจำนวนชุด)
ตีพิมพ์ครั้งล่าสุด – พ.ศ.2554 พิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 7 (1,000 ชุด)
เนื่องด้วยสามก๊กฉบับราชบัณฑิตยสภาซึ่งผ่านการตีพิมพ์มามากกว่า 20 ครั้ง ยังคงมีความผิดพลาดของสำนวนเนื้อหาในการแปล ซึ่งไม่ได้แปลงตรงตามเนื้อหาของฉบับหลอก้วนจงทั้งหมด ในภายหลัง วรรณไว พัธโนทัย จึงมีความพยายามที่จะแปลใหม่โดยยึดจากฉบับของหลอก้วนจง โดยอาศัยต้นฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาอังกฤษของ Briwett Taylor เป็นตัวเทียบเคียงในการแปลใหม่ เพื่อความถูกต้องและใกล้เคียงกับต้นฉบับของหลอก้วนจงมากที่สุด
สามก๊กฉบับนี้ วรรณไว พัธโนทัย ได้ร่วมกับบิดาคือ สังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือพิชัยสงครามสามก๊ก และดร.มั่น พัธโนทัย ซึ่งทั้งสามต่างก็เป็นผู้รู้ในภาษาจีน ช่วยกันแปลและเรียบเรียงต้นฉบับจากหลอก้วนจง เพื่อให้ใกล้เคียงที่สุด ได้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในปีพ.ศ.2521 ซึ่งฉบับพิมพครั้งแรกๆจะพิมพ์ขายเป็นเล่มเล็กๆ แบ่งเป็นตอนๆ หาไม่มีแล้วนอกจากในห้องสมุดแห่งชาติและห้องสมุดของมหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งเท่านั้น
สามก๊กฉบับนี้พยายามที่จะแปลเนื้อหาในสามก๊กให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดตรงตามต้นฉบับของหลอก้วนจง เก็บความในส่วนบทร้อยกรองที่ถูกตัดทิ้งไปเอาไว้ จึงเปิดเรื่องและปิดด้วยบทร้อยกรองของจีนตามต้นฉบับ เป็นการแปลโดยไม่ไปเสริมเติมแต่งหรือตัดตอนสิ่งใดออก อันเป็นแนวคิดการแปลนิยายในยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึงอธิบายแผนที่และภาพประกอบเหมือนกับฉบับของเจ้าพระยาพระคลังหนราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย สามก๊กฉบับนี้จึงมีคุณค่าในแง่ของความพยายามในการแปลและเรียบเรียงเนื้อหาให้เหมือนต้นฉบับเดิมของหลอก้วนจง
แต่อ.ถาวร สิกขโกศลได้วิจารณ์ว่า สามก๊กฉบับนี้ยังคงมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาก (ผู้เขียนพบว่ามีจุดผิดพลาดเล็กๆน้อยอยู่บ้าง และจากคำนำครั้งที่ 7 ของคุณวรรณไว ก็ยอมรับว่ายังมีข้อผิดพลาดจริงแม้ว่าจะพยายามตรวจแก้แล้ว แต่ก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของตระกูลพัธโนทัยที่ควรค่าแก่การเก็บไว้) ขณะที่ในด้านคุณภาพเชิงวรรณคดีจึงไม่อาจเทียบกับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนได้ ซึ่งหากมองให้เป็นกลางแล้ว อาจพูดได้ว่า สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนนั้นเป็นยอดวรรณคดีเอกของไทยไปแล้ว มิใช่ของชาวจีนอีก เพราะสำนวนและเนื้อหาต่างๆถูกปรับเพื่อให้สอดคล้องและเข้ากับสังคมไทย ส่วนสามก๊กฉบับแปลใหม่นี้ มิได้มีการปรับแต่งเสริมเติมอะไรเพื่อให้กลายเป็นวรรณคดีไทย จึงเรียกได้ว่าเป็นหนังสือแปลของเรื่องสามก๊กจากจีนมากกว่า ซึ่งปัจจุบัน สามก๊กฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ.2554 จึงได้จัดทำใหม่ให้สวยงามเป็นรูปเล่ม 2 เล่มจบ พร้อมแผนที่ประกอบ โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
สรุปแล้ว สามก๊กฉบับแปลใหม่นี้เป็นสามก๊กฉบับที่แปลใกล้เคียงกับต้นฉบับของหลอก้วนจงและฉบับภาษาอังกฤษของ Briwett Taylor โดยมีทั้งบทร้อยกรองและลักษณะการตัดจบตอนต่อตอนมาครบ ตามแนวคิดการแปลนิยายภาษาต่างชาติในปัจจุบัน นับว่าเป็นสามก๊กฉบับมาตรฐานชุดแรกสุดที่มีความพยายามนำสามก๊กฉบับหลอก้วนจงมาแปลและแก้ไขใหม่จนครบทั้งเรื่องสมบูรณ์และพิมพ์เป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com
ขอบคุณรูปภาพจาก หลี่กว้านเผิง หลี่
No Comment