Homeสามก๊กหนังสือสามก๊กสามก๊กฉบับสมบูรณ์

สามก๊กฉบับสมบูรณ์

สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ พร้อมคำวิจารณ์

สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ พร้อมคำวิจารณ์ (วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์)
ตีพิมพ์ครั้งแรก – ปีพ.ศ. 2542 (1,000 ชุด)
ตีพิมพ์ครั้งล่าสุด – พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 12 ปีพ.ศ.2554 (น่าจะ 1,000 ชุด)
ด้วยความที่สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน มีขีดจำกัดและข้อผิดพลาดในการแปล และสามก๊กฉบับแปลใหม่ของวรรณไว พัธโนทัยได้พยายามทำการแปลเนื้อหาสามก๊กฉบับหลอก้วนจงให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้แปลจนครบถ้วนทุกอย่างเหมือนต้นฉบับหลอก้วนจง เช่นในส่วนของคำวิจารณ์ บทแทรกต่างๆ ก็ไม่ได้แปลไว้

ดังนั้นปีพ.ศ.2542 วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ จึงได้ทำการแปลเนื้อหาสามก๊กจากฉบับของหลอก้วนจงและเทียบเคียงไปกับฉบับภาษาอังกฤษของ Briwett Taylor โดยครั้งนี้เป็นการแปลที่ต้องการให้ครบถ้วนสมบูรณ์มีทุกอย่างตามต้นฉบับเดิมที่สุด รวมถึงคำวิจารณ์และบทแทรกของเหมาจงกังซึ่งใช้ชื่อว่ากิมเสี่ยถางที่มีประกอบอยู่ในเรื่องจนครบหมดด้วย

สามก๊กฉบับนี้ใช้ชื่อว่าสามก๊กฉบับสมบูรณ์พร้อมคำวิจารณ์ หรือ พงศาวดารจีนสามก๊ก มีทั้งหมด 4 เล่ม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซีเอ็ด ยูเคชั่น ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 12 ในปีพ.ศ.2554

สามก๊กฉบับนี้เรียกได้ว่าเป็นฉบับที่มี ”มีแทบทุกอย่าง” ของต้นฉบับหลอก้วนจงและเหมาจงกัง แต่ด้วยความที่มีรายละเอียดมากถึงขนาดนี้เอง ก็ทำให้สามก๊กฉบับนี้ค่อนข้างอ่านได้ยาก ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่ต้องการทำความเข้าใจเรื่องสามก๊กในขั้นแรก แต่จะเหมาะกับผู้ต้องการค้นคว้าหรืออ่านเรื่องสามก๊กในเชิงลึกและการวิเคราะห์ วิจารณ์ที่นอกเหนือจากในเนื้อหาสามก๊กมากกว่า อีกทั้งสำนวนการแปลที่ใช้นั้น อ.วิวัฒน์ใช้สำนวนจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นสำนวนจีนที่ตนถนัด ชื่อตัวละครและสถานที่จึงเปลี่ยนแปลงไปจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนและฉบับอื่นๆที่แปลด้วยสำนวนฮกเกี้ยนทั้งหมด ดังนั้นผู้อ่านจึงสับสนได้ค่อนข้างมาก แต่กระนั้นอ.วิวัฒน์ก็พยายามแปลได้ตรงตามต้นฉบับจีนที่สุด กล่าวคือเนื้อหาช่วงใดที่เรียกชื่อตัวละครเป็นชื่อรองหรือฉายา ก็จะแปลไว้ตามนั้น ไม่มีการเปลี่ยน

สำหรับบทความและบทวิจารณ์ที่แทรกอยู่ในเล่มนั้นของเหมาจงกัง ซึ่งใช้ชื่อว่ากิมเสี่ยถางนั้น จะค่อนข้างเชิดชูและยกย่องฝ่ายเล่าปี่หรือจ๊กก๊กเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะตำหนิและวิจารณ์ฝ่ายโจโฉหรือวุยก๊กในเชิงลบตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็จะมีชื่นชมบ้างตามสมควร อีกทั้งแนวคิดการเชิดชูฝ่ายเล่าปี่นั้นก็เป็นไปตามแนวคิดเจิ้งถ่งคือการเชิดชูสายเลือดกษัตริย์ว่าเป็นผู้มีความชอบธรรมในการสืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น และวิจารณ์โจโฉว่าเป็นโจรกังฉินที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์เดิม

อีกจุดที่น่าสนใจคือ คุณวิวัฒน์ผู้เขียนได้แทรกเนื้อหาและความคิดเห็นอันน่าสนใจและมีคุณค่ามากมายเอาไว้ทั้งในด้านสามก๊กและประวัติศาสตร์จีน และยังเป็นการพยายามมองสามก๊กกับโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญวิกฤติต่างๆในสมัยนั้น (พ.ศ.2542)

โดยสรุปแล้ว สามก๊กฉบับนี้จึงเหมาะสมสำหรับผู้อ่านที่ได้อ่านสามก๊กเจ้าพระยาพระคลังหนมากมากพอและมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์จีนอยู่บ้างแล้ว และอาจไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นอ่านสามก๊กหรือผู้ที่ขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์จีนเท่าใดนัก และยังไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่พร้อมจะอ่านบทความวิจารณ์ที่จะสอดแทรกและชี้นำความคิดคนอ่านอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่จะเหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บข้อมูลต่างๆในสามก๊กและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาคิดต่อเอง

ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com

ขอบคุณรูปจาก thaisecondhand

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
สามก๊กฉบับแปลใหม่
Next post
สามก๊กฉบับวณิพก

No Comment

Leave a reply